Finder is committed to editorial independence. While we receive compensation when you click links to partners, they do not influence our content.
การวางแผนการเงิน วางแผนเกษียณ ฉบับมนุษย์เงินเดือน
ขั้นตอนวางแผนเกษียณฉบับมนุษย์เงินเดือน
- กำหนดเป้าหมาย
- คำนวณจำนวนเงินที่เราต้องใช้หลังเกษียณ (RF)
- ตรวจสอบเงินออมในปัจจุบันของเราที่เก็บไว้จากแหล่งเงินออมต่างๆ
- คำนวณจำนวนเงินที่ต้องเริ่มต้นออมตั้งแต่วันนี้ (SH)
- 5) เริ่มต้นออมด้วยการ วางแผนเกษียณ
จากผลสำรวจของ GoBear Financial Health Index หรือดัชนีชี้วัดสุขภาพทางการเงินของคนไทยนั้น พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งเป้าที่จะเกษียณเมื่ออายุ 50 ปีต้น ๆ ซึ่งขัดกับอายุเฉลี่ยที่คนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจวางแผนด้านการเงินอยู่ที่ 41.5 ปี นั่นหมายความว่า ถึงแม้คนไทยรุ่นใหม่คาดหวังจะเกษียณเร็วขึ้น แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เริ่มวางแผนทางการเงินสำหรับการเกษียณหลังหยุดทำงานเลย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การวางแผนเกษียณสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่หลังเรียนจบเลยนะครับ ดังนั้นวันนี้พี่หมีจึงมาบอกเทคนิควางแผนเกษียณฉบับมนุษย์เงินเดือน เพื่อที่เพื่อน ๆ จะได้นำไปใช้กัน แม้จบใหม่ก็ทำได้ครับไม่ยากอย่างที่คิด ไปดูกันเลย
1) กำหนดเป้าหมาย
คิดก่อนว่าเราต้องการอะไรในชีวิตบ้าง หลังจากที่เราเกษียณหรือไม่ทำงานแล้ว ซึ่งเป้าหมายของเราก็จะสอดคล้องกับจำนวนเงินที่ต้องใช้ในวัยเกษียณ (Retirement Fund Needed หรือเรียกสั้นๆ ว่า RF) นั่นเองครับ
เงินที่เราต้องใช้หลังเกษียณ (RF) ควรจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ครับ
- กิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เราชอบ
- คุณภาพชีวิตที่เราต้องการ ทั้งสภาพการดำรงชีวิตประจำวัน (ความจำเป็นพิ้นฐาน) ที่อยู่อาศัย การสร้างความมั่นคงให้ลูกๆหรือทายาท เป็นต้น
- ภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายทุกเดือน
- ปัญหาสุขภาพ ตรงนี้สำคัญมากที่สุด เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนี่แหละครับ ที่มักกระทบกับเงินออมของเราโดยตรง บางคนเก็บเงินมาทั้งชีวิต ป่วยครั้งเดียวหายวับไปเลยก็มี ดังนั้น การเริ่มดูแลสุขภาพด่วยการหมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตไว้ก่อน จึงเป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญมากครับ
2) คำนวณจำนวนเงินที่เราต้องใช้หลังเกษียณ (RF)
วิธีคำนวณจำนวนเงินที่เราต้องใช้หลังเกษียณ (RF) คำนวณได้โดย
- คำนวณจากรายได้ก่อนเกษียณ (Replacement Ratio Method)
- คำนวณจากค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ (Expense Method)
จำนวนเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณอายุ = (70%ของรายได้ หรือค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ x 12 เดือน) x จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตอยู่
3) ตรวจสอบเงินออมในปัจจุบันของเราที่เก็บไว้จากแหล่งเงินออมต่างๆ
สมมติเราคำนวณแล้วว่า เราอยากจะใช้เงินเดือนละ 30,000 บาทต่อเดือนหลังเกษียณ (เพราะค่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปี) แล้วเราจะมีอายุไปอีกประมาณ 20 ปี หลังเกษียณตอน 60 ปี (เท่ากับว่าเราอายุ 80 ปี) ดังนั้นเราจะต้องมีเงินออมทั้งหมด ณ วันเกษียณ 7,200,000 ล้านบาท! เห็นตัวเลขแล้วอย่าเพิ่งท้อนะครับ ให้เราลองมาดูจำนวนเงินทั้งหมดที่เราเก็บออมได้ในปัจจุบันจากแหล่งเงินออมทั้งหมดที่เรามีอยู่กันก่อน เงินก้อนนี้เราเรียกว่า Source of Fund for Retirement หรือ SF ครับ
แหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณมีอะไรบ้าง
- กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ (SSO)
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF)
- สลากออมสิน
- ประกันชีวิต
- เงินชดเชยตามกฎหมาย
- สินทรัพย์อื่น ๆ
4) คำนวณจำนวนเงินที่ต้องเริ่มต้นออมตั้งแต่วันนี้ (SH)
จำนวนเงินที่ต้องเริ่มต้นออมตั้งแต่วันนี้ (Retirement Fund Shortage : SH) คำนวณง่าย ๆ ไม่ยากเลยครับ เพียงแค่เพื่อน ๆ เอาจำนวนเงินที่ต้องใช้ในวัยเกษียณ มาลบกับ จำนวนเงินออมในปัจจุบัน (SF) เพียงเท่านั้นก็จะรู้แล้วว่าเรายังขาดเงินอยู่อีกเท่าไหร่
5) เริ่มต้นออมด้วยการ วางแผนเกษียณ
นี่ก็เป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้วนะครับ หลังจากที่เพื่อน ๆ ทราบจำนวนเงินที่เราจะต้องออมเพิ่มแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ การวางแผนออมและการลงทุนในแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณ แล้วลงมือปฏิบัติตามแผนทางการเงินที่วางไว้นั่นเองครับ ซึ่งถ้าหากที่ทำงานของใครไม่ได้มี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และยังไม่อยากลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เนื่องจากต้องรอนานจนอายุ 55 ปีไปแล้ว การเริ่มต้นที่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ก็เป็นทางเลือกที่ดีเลยครับ เพราะนอกจากจะได้รับความคุ้มครองด้านชีวิตแล้ว หากเราไม่ได้เสียชีวิตแต่อยู่จนถึงเมื่อครบสัญญา เราก็จะได้เงินคืนด้วย นอกจากนี้ยังมีเงินคืนระหว่างปี และสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย