Finder is committed to editorial independence. While we receive compensation when you click links to partners, they do not influence our content.
วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 กับการรับมือของคนรวย-คนจน
วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 กับการรับมือที่แตกต่างของคนรวย-คนจน
- โควิด-19 : สาเหตุหลักวิกฤตเศรษฐกิจของคนรายได้น้อย
- คนจน: ปากท้องก่อน สุขภาพเดี๋ยวว่ากัน
- คนรวย: ทำไมการดูแลสุขภาพถึงสำคัญที่สุด
- แนวทางจัดการเงินช่วงวิกฤตโควิด-19
เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด สุขภาพและเศรษฐกิจ คือ สองสิ่งที่ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน แถมยังตามมาเป็นลูกโซ่ เพราะโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มป่วยจำนวนมาก และโรคอย่างโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องอยู่แต่ในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อุตสาหกรรมหรือกิจการที่มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร จึงทรุดลงอย่างหนัก ลามไปสู่การลดเงินเดือน การเลิกจ้างกระทันหัน หรือแม้แต่การปิดกิจการ พอคนไม่มีเงิน ก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ซบเซาลงไปอีก
สั้นๆ คือ ไม่ว่าจะคนจนหรือคนรวยก็โดนโควิด-19 อัดเข้าให้สักทาง
แต่คนเหล่านี้รับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร พี่หมีจะเล่าผ่านข้อมูลที่น่าสนใจจากดัชนีชี้วัดสุขภาพทางการเงินของโกแบร์กันครับ
โควิด-19 : สาเหตุหลักวิกฤตเศรษฐกิจของคนรายได้น้อย
จากการสำรวจ 43% ของผู้ที่มีรายได้น้อย คือ 25,000 บาท / เดือน ขึ้นไป มองว่าโควิด-19 เป็นภัยร้ายแรงต่อการเงินมากจนถึงมากที่สุด ในขณะที่ 36% ของผู้ที่มีรายได้สูง คือ 150,000 บาท / เดือน ขึ้นไป ไม่ได้มองว่าโรคระบาดเป็นภัยต่อการเงินขนาดนั้น
คนจน: ปากท้องก่อน สุขภาพเดี๋ยวว่ากัน
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่จำเป็นที่สุดในช่วงวิกฤตโรคระบาด 75% ของผู้ที่มีรายได้น้อยเลือก อาหาร ส่วน 83% ของผู้มีรายได้สูงเลือก การดูแลสุขภาพ เป็นอย่างแรก
แบบนี้แปลว่าคนจนไม่ใส่สุขภาพหรือเปล่า?
จริงๆ แล้วก็เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนะครับ เพราะจากผลสำรวจเรื่องคนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19 [1] โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เปิดเผยว่า 89.90% ของคนจนในเมืองมีหน้ากากอนามัยใส่ และ 44.27% มีการพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ
แต่ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบหนักจากโรคระบาด จากผลสำรวจ 60.24% ของคนจนในเมืองรายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ต้องนำเงินเก็บมาใช้ หรือแย่ที่สุดคือแทบไม่มีเงินซื้ออาหารในชีวิตประจำวันเลย ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับผลสำรวจของโกแบร์ที่ผู้มีรายได้น้อยมองว่า โควิด-19 เป็นภัยร้ายแรงต่อการเงิน และสิ่งที่จำเป็นที่สุดของพวกเขาคือ อาหาร เพราะลำพังปัจจัย 4 ยังขาดแคลน เรื่องสุขภาพจึงกลายเป็นเรื่องรองลงมาจากปากท้องนั่นเองครับ
คนรวย: ทำไมการดูแลสุขภาพถึงสำคัญที่สุด
คนมีรายได้สูงอาจไม่ต้องกังวลกับเรื่องปากท้องมาก แต่จะเน้นไปที่การดูแลสุขภาพ เพราะเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการซื้อประกันสุขภาพหรือประกันโควิดแยก จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลถ้าเกิดป่วยขึ้นมา นอกจากประกันที่ทำไว้ ก็ยังดูแลสุขภาพโดยทานอาหารที่มีประโยชน์และยังออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ
แนวทางจัดการเงินช่วงวิกฤตโควิด-19
แม้คนรวยกับคนจนจะมีวิธีการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจจากโรคระบาดที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำเหมือนกัน คือ การวางแผนการเงิน พี่หมีมีแนวทางแนะนำเบื้องต้นให้ดังนี้ครับ
สำหรับผู้ที่สภาพคล่องฝืดถึงติดลบ
- ทำงบประมาณรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน
เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายไหนจำเป็นจริงๆ หรือตัวไหนเอาออกได้ และจะมีรายจ่ายเพิ่มเติมเข้ามาอีกไหมในอนาคต
- ลดรายจ่าย
รายจ่ายหลักๆ จะมีอยู่สองแบบ คือ รายจ่ายคงที่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตร ตัวนี้ค่อนข้างลดยาก แต่ถ้าลดได้ก็จะเสถียรไปเลยทุกเดือน พี่หมีแนะนำว่าถ้าอยากลองลดภาระหนี้ แนะนำให้รีไฟแนนซ์หรือเจรจากับธนาคารดูครับ ส่วนอีกตัวหนึ่งคือรายจ่ายผันแปร เช่น ค่าอาหาร ค่าสมัครสมาชิกต่างๆ พวกเป็นอาจไม่ได้มีจำนวนมากเท่ากับรายจ่ายคงที่ แต่ก็ควรลดเช่นกัน จะได้นำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์อื่นๆ เช่น จ่ายหนี้หรือเก็บไว้เป็นเงินสำรอง
- ถ้าโดนเลิกจ้าง อย่าลืมไปลงทะเบียนคนว่างงาน
รายงานตัวว่างงานออนไลน์เพื่อรับเงินชดเชยที่เว็บไซต์กรมจัดหางาน กรณีที่เพื่อนๆ อยู่ในระบบประกันสังคม ใช้สิทธิของเราให้เต็มที่ครับ
- หารายได้เสริม
ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการขายของอย่างเดียวนะครับ ลองนึกถึงทักษะที่ตัวเองมีแล้วหาทางสร้างรายได้จากตรงนั้นเอาก็ได้ เช่น สอนหนังสือ แปลภาษา ทำกราฟฟิก งานซ่อมต่างๆ จากนั้นก็กระจายข่าวโดยการบอกเพื่อนๆ รอบตัวว่าเรารับงาน หรือถ้ามีผลงานก็เอาไปโพสต์ตามกลุ่มรับหางานก็ได้ครับ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองอย่างหนึ่ง
- รักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย
หาเวลาวันละ 20-30 นาที ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคภัย ก็เป็นวิธีบริหารความเสี่ยงที่ดีและไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
สำหรับผู้ที่มีเงินเหลือ
- อย่าก่อหนี้เพิ่ม
ไม่มีอะไรแน่นอนในยุคเศรษฐกิจถดถอย ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าสร้างหนี้ครับ เพราะถ้าวันนึงเราโดนลดเงินเดือนหรือต้องขาดรายได้กระทันหัน หนี้พวกนี้จะกลายเป็นภาระทันที
- เก็บเงินทุกเดือน
หักออมอย่างน้อย 10% ของเงินเดือนเข้าบัญชีเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ควรมีอย่างน้อย 3 เท่าของเงินเดือน หรือถ้าได้ 8 เดือนก็จะสุดยอดครับ
- เริ่มลงทุน / อย่าหยุดลงทุน
สำหรับใครที่ยังไม่เคยลงทุน ก็ควรเริ่มได้แล้วครับ นอกจากจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ ก็ยังมีผลตอบแทนด้วย ส่วนใครที่ยังลงทุนอยู่แต่หวั่นใจในตลาดหุ้น พี่หมีแนะนำให้ลงทุนต่อไปครับ เช่นเดียวกับชีวิต ตลาดหุ้นก็มีภาวะขาขึ้นและขาลงของมัน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ผลตอบแทนก็จะงอกเงยขึ้นมาครับ
- ซื้อประกันสุขภาพ
มีกิน มีใช้ มีเก็บ ก็อย่าลืมปิดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพด้วยนะครับ ยิ่งช่วงนี้ใครๆ ก็มีโอกาสป่วยได้ ดังนั้น ทำประกันเพื่อให้ตัวเราเองพร้อมเบิกค่ารักษาพยาบาลไว้ก่อน สบายใจกว่า ถ้าเพื่อนๆ สนใจ ลองกดเปรียบเทียบประกันสุขภาพกับโกแบร์ได้ที่ปุ่มด้านล่างเลยครับ
[1]ขอขอบคุณข้อมูลจาก thestandard.co
More guides on Finder
Ask an Expert